การประยุกต์ใช้ EM กับการปลูกพืช
วัสดุที่ใช้
1. EM ขยาย
2. EM โบกาฉิ หรือ ปุ๋ยคอกหมัก
3. สารเสริม เช่น EM5 ฮอร์โมนผลไม้ EM F.P.E.
พืช อาศัยอาหารจากดิน อาหารในดินก็คือ ซากพืช ซากสัตว์ ที่ผ่านการย่อยของจุลินทรีย์แล้ว ดังนั้นแปลงปลูกพืชจะต้องยึดหลัก 3 ประการ
1. การคลุมดิน ช่วยให้รักษาความชื้น ป้องกันวัชพืช และกลายเป็นปุ๋ย
- แปลงเพาะปลูกพืชผัก ต้องคลุม แปลง
- ในสวนไม้ผล จัดหาหญ้า ฟาง ใบไม้ใส่ หากมีหญ้า ก็ตัดคลุมดิน ถ้าไม่ตัดก็ปล่อยไว้ ไม่ควรใช้ยาฆ่าหญ้า
- ในไร่ ในนา ปล่อยหญ้าฟางไว้ ไม่ควรเผา หรือกำจัด ใช้วิธีไถเพื่อกำจัด จะกลายไปเป็นปุ๋ย
2. ไม่ไถพรวน ยกเว้น
- เพื่อการกำจัดวัชพืช
- เพื่อการยกแปลงใหม่
จะทำไร่ ทำนา หญ้าในแปลงมากมายเป็นเรื่องดี ใส่ EM โบกาฉิ พ่น EM แล้วไถพรวน หญ้าจะถูกย่อยเป็นปุ๋ย หรือไถแล้วยกแปลงเพื่อการปลูกผัก ข้าวโพด มัน อ้อย และอื่นๆ ที่ปลูกบนแปลง
3. งดเคมี หากไม่งดจะทำให้การพัฒนาดินเป็นไปได้ช้า เพราะ
- เคมีทำให้ดินแข็ง
- EM ทำให้ดินร่วน
หากใช้ร่วมกับเคมีอยู่เสมอๆ ดินจะไม่พัฒนา ผลผลิตจะไม่เพิ่ม ปัญหาโรค และแมลงศัตรูพืชแก้ไม่ได้โดยวิธีธรรมชาติ
การปลูกผัก
1. การเตรียมแปลง
- ยกแปลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
- ใส่ EM โบกาฉิหรือปุ๋ยคอกหมัก ตารางเมตรละ 1-2 กำมือ
- ใช้จอบสับให้ปุ๋ยเข้ากับดินก่อน คลุมแปลงด้วยหญ้า ฟางแห้ง
- รด EM (EM ขยาย + กากน้ำตาล + น้ำ อัตราส่วน 1 : 1 : 1,000) ให้เปียกโดยทั่ว หมักไว้ก่อนไม่น้อยกว่า 7 วัน แล้วนำผักมาปลูก
2. การปลูก
- ปลูกด้วยเมล็ด เปิดฟางคลุมแปลงออก หยอดหรือโรยเป็นแถว แล้วคลุมฟางเหมือนเดิม ปลูกด้วยกล้าแหวกฟางปลูก แล้วทำร่มด้วย
ดูแลให้น้ำ EM5 , EM และ EM F.P.E. สม่ำเสมอ
3. การดูแล
- ให้น้ำเช้า-เย็น ผสม EM ในน้ำที่ให้ ทุก 3 วัน
- พ่น EM5 หรือ EM F.P.E. เสมอๆ ทุก 5 วัน
ผักรากยาว เช่น แครอท ผักกาดหัว การเตรียมแปลงควรแหวะท้องหมู หรือขุดแปลงเป็นรูปตัว V ใส่อินทรียวัตถุ EM โบกาฉิ และรด EM ก่อนยกแปลง แล้วดำเนินการดังกล่าวมาข้างต้นอีกครั้ง
การปลูกไม้ผล
ไม้ผล หรือไม้ยืนต้นอื่นๆ เช่น ยางพารา ปาล์ม ฯลฯ การเพาะปลูกและการดูแลก็คล้ายกัน เพียงแต่ว่าไม้ที่ประสงค์ดอกผล ใช้ EM โบกาฉิมูลสัตว์ (ไก่ สุกร นก) จะได้ผลดี และให้ฮอร์โมนเพิ่มเติมด้วย ไม้กำลังเจริญ หรือไม้ไม่ต้องการผล ควรใช้ปุ๋ยคอกหมัก แต่ถ้าหากใช้ EM โบกาฉิมูลสัตว์ ให้ใส่วัชพืชคลุมดินมากๆ พ่น EM F.P.E. เสมอๆ ไม้ผลขอแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
1. ระยะเจริญ
- คลุมดินให้สม่ำเสมอ
- ใส่ EM โบกาฉิทุกเดือน หากมีน้ำหรือมีความชื้น
- พ่น EM5 และ EM F.P.E. เสมอๆ
2. ระยะให้ผลผลิต ใส่ EM โบกาฉิมูลสัตว์ ประมาณปีละ 4 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ระยะหลังเก็บผลผลิต ควรพ่น EM ด้วย
ครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกประมาณ 3 เดือน แต่ต้องมีน้ำให้ด้วย
ครั้งที่ 3 ก่อนผลิดอก
ครั้งที่ 4 เมื่อติดผลเล็กๆ
ยกเว้นลำไย ระยะที่ 3-4 ให้เมื่อมีผลเล็กๆ และเมล็ดเริ่มดำ
ข้อควรจำ
- ใส่ EM โบกาฉิทุกครั้ง ต้องพ่นด้วย EM ขยาย กากน้ำตาล ผสมน้ำ (1 : 1 : 1,000) เสมอ
- ไม้ที่ให้ผลผลิตทั้งปี ใส่ EM โบกาฉิทุกเดือน ให้ฮอร์โมนทุก 15 วัน ตลอด ไปรวมทั้ง EM F.P.E. ด้วย
พืชไร่
พืชไร่ เป็นการเตรียมแปลงที่มีขนาดใหญ่ ต้องใช้ความพยายามดำเนินการ ดังนี้
1. หากมีวัชพืชสูงควรตัดก่อนป่นลงบนแปลง
2. ใช้ EM โบกาฉิไร่ละ 100-200 กิโลกรัม
3. พ่น EM ขยาย กากน้ำตาล ผสมน้ำ (1 : 1 : 1,000)
4. ไถ-พรวน หมักไว้ 10-15 วัน พรวนอีกครั้ง
5. ปลูกได้
การดูแล
1. พ่น EM ทุกเดือน
2. พ่น EM5, EM F.P.E. ทุก 15 วัน
3. พืชไร่ที่ต้องการผล, ฝัก เมื่อเริ่มมีช่อดอกให้พ่นฮอร์โมนผลไม้ด้วย ทุก 10-15 วัน ตลอดไปจนกระทั่งติดผลเล็กๆ ยกเว้นพืชที่มีดอกผลตลอดปี ก็จะพ่นตลอดไปเช่นกัน เช่น พริก มะเขือ
พืชไร่บางชนิด ให้ผลผลิตสูง คือ มีผลโต เช่น แตง ฟักทอง แคนตาลูป หลุมปลูกต้องรองก้นหลุมด้วยหญ้าฟาง มูลสัตว์ EM โบกาฉิ และ EM ก่อนปิดแปลง หรือปิดหลุม หมักไว้ก่อน 7 วัน จึงนำพันธุ์มาปลูก เริ่มผลิดอก ใช้ EM โบกาฉิ ทุก 15 วัน และเพิ่มมากขึ้นเมื่อติดผล
การรองก้นหลุม ทำได้ 2 ลักษณะ คือ
1. ขุดเป็นหลุมเฉพาะต้น ก็จะรองก้นหลุมเฉพาะต้น
2. ขุดเป็นร่องลึกยาว ใส่วัชพืช มูลสัตว์ EM โบกาฉิ EM แล้วชักร่องปิด เพื่อปลูกบนแปลงอีกครั้งหนึ่ง
การทำนา
อุปกรณ์
1. EM ขยาย 20 ลิตร/ไร่
2. EM โบกาฉิ 100 ก.ก./ไร่
อาจมีการใช้ EM F.P.E. หรือ EM5 ฉีดพ่นประมาณเดือนละ 2 ครั้ง
การทำนาในอดีตจะมีการไถนา 2 ครั้ง คือ ไถดะและไถแปร ไถดะเพื่อกำจัดวัชพืชที่เป็นต้น เร่งให้เมล็ดพืชงอก จึงมีการไถแปรอีกครั้ง ห่างจากระยะแรกประมาณ 20-25 วัน
การทำนาโดยการใช้เทคโนโลยี EM ก็ดำเนินการเช่นกัน แต่เพิ่มกระบวนการสร้างจุลินทรีย์ในดินก่อน ดังนี้
1. หว่าน EM โบกาฉิ ไร่ละ 100 กิโลกรัม
2. พ่น EM ขยาย ไร่ละ 10 ลิตร ผสมน้ำ 500 เท่า (ถ้าดินแห้งผสมน้ำ 1,000 เท่า)
3. ไถดะ (การไถครั้งแรก) หากพรวนด้วยจะดีมาก เป็นการไถเพื่อกลบวัชพืชให้จุลินทรีย์ใน EM ย่อย และเร่งให้เมล็ดวัชพืชงอก หมักไว้ 20-25 วัน
4. ไถแปร เป็นการกำจัดวัชพืชที่งอกใหม่ และเพื่อทำเทือก หว่านหรือดำ หรือหยอด ตามถนัดของเกษตรกร
5. หลังเพาะปลูก พ่น EM ขยายผสมน้ำ 500 เท่า ทุกเดือน (ประมาณ 2 ครั้งต่อรุ่น)
ข้อสังเกต
1. ข้าวธรรมชาติจะเจริญช้า มั่นคง และแข็งแรง
2. แม้ถึงอายุเกี่ยว หากมีความชื้น ข้าวจะไม่ตาย ใบและต้นยังเขียว หากรวงเหลืองก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ เมล็ดลีบมีต่ำมาก เพราะต้นข้าวไม่ตาย
3. แปลงเพาะกล้าในนาดำ ไม่ควรใส่ EM โบกาฉิก่อนไถ ทำเทือกแล้วจึงใส่ และพ่น EM เพื่อให้รากลอย ถอนง่าย
4. ไม่ควรใส่ EM โบกาฉิหลังปลูกข้าวแล้ว จะทำให้รากลอย ล้มง่าย หากจำเป็นให้ใส่ในระยะข้าวแตกกอ หรือก่อนออกรวง